วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

ทำไมไม่มี ยา น่าแปลกใจ


ข้อนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนไม่ทราบว่าจะให้อะไรในการทำทาน จึงพากันนึกถึงแต่เงิน เพราะในทางโลก เงินเปรียบเหมือนแก้วสารพัดนึก อยากได้อะไรก็ใช้เงินแลกเปลี่ยนซื้อหามาได้ แต่ในทางธรรมนั้น เงิน เป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ในสมัยโบราณมีผู้ถวายทานโดยไม่ต้องใช้เงินเลยก็สามารถทำทานได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ดังนี้วัตถุทานที่ควรให้มีอะไรบ้าง

  1. ทานที่อยู่ในพระวินัย
ทานที่อยู่ในพระวินัย จัดเป็นทานที่ให้ผลบุญมาก เพราะเป็นทานที่มุ่งสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของนักบวชที่ปฏิบัติธรรมเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ให้มีความลำบากในการดำรงชีวิต พระภิกษุนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีอาชีพ และต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงดู ด้วยการออกบิณฑบาต สิ่งที่จำเป็นสำหรับการให้ทานในพระวินัยนั้น มีอยู่ 4 ประการได้แก่

1. เครื่องนุ่งห่ม หมายถึง จีวร สบง อังสะ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าอาบน้ำฝน

2. อาหารการกิน หมายถึง อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทุกชนิดที่ไม่ใช่ เนื้อต้องห้าม 10 ประการได้แก่ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี เนื้อราชสีห์ เนื้อสุนัข และเนื้องู ดังนั้น แม้เราจะได้เนื้อเหล่านี้มาอย่างบริสุทธิ์ หรือมีการตั้งจิตเพราะได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มลองว่า เนื้อชนิดใดชนิดหนึ่งใน เนื้อทั้ง 10 ประการนี้มาก็ตามก็ไม่ควรนำมาถวายให้แก่พระ เพราะจะเป็นอุปสรรคร้ายแรงในการปฏิบัติธรรม

ในอดีตสมัยพุทธกาล หากภิกษุคนใดที่เคยฉันเนื้อ หรือยังฉันเนื้อเหล่านี้อยู่ เวลาปฏิบัติธรรมจะเกิดอุปสรรค หากเคยฉันเนื้อสัตว์ชนิดใด เวลาเจอสัตว์ชนิดนั้นในป่า สัตว์ก็จะเข้ามาทำร้าย เจอช้างช้างก็จะล่าเหยียบ เจองูก็จะไล่กัด เจอม้า ม้าก็จะดีดเอา เจอสุนัขสุนัขก็จะเห่าไม่หยุด พระพุทธเจ้าจึงห้ามฉันเนื้อเหล่านี้ไม่ว่าทั้งดิบทั้งสุก

3.เสนาสนะ หรือที่อยู่อาศัย วัตถุทานเหล่านี้เป็นได้ตั้งแต่ มุ้ง กลดพักแรม ไปจนถึง กุฏิ ศาลา วิหาร เพื่อมีไว้ให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติธรรมและพักผ่อน หากไม่มีเงินจะซื้อแต่หากมีสิ่งของเหล่านี้อยู่แล้ว ถ้าต้องการถวายก็สามารถนำมาถวายได้เลย เป็นประโยชน์และก่อเกิดผลบุญมาก

4. ยารักษาโรค ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตให้รอดและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดีในการปฏิบัติธรรมให้ร่างกายไม่เร่าร้อน และสะดวกสบาย ถ้าไม่มีเงินถวายก็ถวายยารักษาโรคให้พระก็นับว่าเป็นบุญกุศลได้มหาศาล ทั้ง 4 อย่างนี้เรียกว่าทานในพระวินัย คือหากได้ถวายแก่ใครก็ตาม โดยเฉพาะนักบวชย่อมมีอานิสงส์มาก

2. ทานที่อยู่ในพระสูตร
ทานที่อยู่ในพระสูตรนั้นมีอยู่ถึง 10 ประการ เป็นส่วนที่ขยายความต่อออกมาจากในพระวินัย ได้แก่ อาหาร น้ำ ผ้า ยานพาหนะให้นั่งทุกแบบ ดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน อาสนะ ที่พักอาศัย เครื่องประทีป (พวก ธูป เทียน เครื่องให้แสงสว่าง ทั้งหลาย)

สิ่งของเหล่านี้เป็นทานที่อยู่ในพระสูตร สามารถนำไปให้ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องมุ่งถวายให้แก่นักบวชเพียงอย่างเดียว อานิสงส์ก็จะมากมายจำแนกไปตามแต่ละประเภทดังนี้

ผู้ที่ถวายทานหรือให้ทานเป็นอาหาร น้ำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีพละกำลัง มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์

ผู้ที่ถวายทานหรือให้ทานเป็น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือเครื่องตกแต่งร่างกาย ก็จะทำให้มีผิวพรรณวรรณะสวยงาม คือมีรูปร่างหน้าตาดี และเกิดในตระกูลสูง มีเกียติยศ เกียรติศักดิ์มาก

ผู้ที่ถวายทานหรือให้ทานเป็น ยานพาหนะ ให้รถให้เรือ ก็คือให้ความสุขสะดวกสบายในการเดินทางกับผู้อื่น ก็จะทำให้ตนเองมีความสุขชีวิตเจริญก้าวหน้าไม่ติดขัด ทำอะไรก็ราบรื่นได้สมปรารถนาแทบจะทุกอย่าง

ผู้ที่ได้ถวายทานหรือให้ทานเป็น สิ่งของที่ให้แสงสว่าง ก็เปรียบเหมือนการให้ดวงตา เมื่อเกิดในภพชาติใดก็จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องใส่แว่นตา มีสายตาดี มีสติปัญญาดี เพราะการให้แสงสว่างก็คือการให้โอกาสแก่การศึกษา

ในสมัยก่อนพระภิกษุต้องลำบากมากในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เพราะศึกษายากลำบาก ไม่มีปัจจัยเพียงพอ ได้หนังสือมาก็ท่องจำไม่ได้สะดวก ต้องรีบท่องรีบอ่านในตอนที่มีแสงสว่างอยู่ แม้แต่ตอนปฏิบัติธรรม ก็ทำได้ยากมีอันตราย หากใครได้ให้แสงสว่างแก่ผู้อื่นก็นับว่าได้สร้างบุญสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้หลากหลายทางมากนัก   

การให้ทานทั้งสิ่งที่อยู่ในพระวินัย หรือในพระสูตรหากเราทำเผื่อไว้ แม้ในภพชาติปัจจุบันก็จะส่งผลให้มีความสุขไม่ขาดแคลน และในภพหน้า เราก็จะได้อาศัยวัตถุทั้งหลายนี้เป็นเครื่องช่วยให้เราตั้งตัวได้ มีหลักมีฐานพร้อม เหมือนกับคนที่สร้างบ้านต้องขุดหลุม ตอกเสาเข็ม ทำคาน มีรากฐานแข็งแรง คนที่มีหลักมีฐานดี อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ก็จะสะดวกในการใช้ชีวิต และมีพื้นฐานในการรักษาศีล และเจริญภาวนาอันเป็นบุญที่ยิ่งๆ ขึ้นไปได้

จากหนังสือเรื่อง สร้างบุญบารมีอานิสงส์สูง ไม่เสียเงินแม้แต่สลึกเดียว โดย จิตตวชิระ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น