วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระธรรมคำสอนจากพระตุ๋ยในเfb

สมบัติของผู้ดี หรือ อริยชน
มีอะไรบ้าง ?

@    ภาค ๑

ผู้ดี ย่อมรักษา ความเรียบร้อย

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาข้ามกรายบุคคล.
(๒) ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ ต่ำ-สูง.
(๓) ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน.
(๔) ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล.
(๕) ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสียหาย.
(๖) ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน.
(๗) ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป.
(๘) ย่อมไม่เอิกอึงเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ.
(๙) ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาประชุมสดับตรับฟัง.
(๑๐) ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่สอดสวนวาจา หรือแย่งชิงพูด.
(๒) ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดัง เหลือเกิน.
(๓) ย่อมไม่ใช้เสียงตวาด หรือพูดจากระโชกกระชาก.
(๔) ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน.
(๕) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส.
(๒) ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา.

@   สมบัติของผู้ดี .. ภาค ๒

ผู้ดี ย่อมไม่ทำ อุจาด-ลามก

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาด และแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ.
(๒) ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง.
(๓) ย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะแกะเการ่างกายในที่ชุมชน.
(๔) ย่อมไม่กระทำการที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ชุมชน.
(๖) ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดัง และโดยไม่ป้องกำบัง.
(๗) ย่อมไม่บ้วนขากด้วยเสียงอันดัง หรือให้เปรอะเปื้อน ให้เป็นที่รังเกียจ.
(๘) ย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะมูมมามในการบริโภค.
(๙) ย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน.
(๑๐) ย่อมไม่ล่วงล้ำ ข้ามหยิบ ของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษและขอให้เขาส่งได้.
(๑๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ.
(๑๒) ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อมไปล้วงตักสิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง.
(๑๓) ย่อมระวัง ไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน.
(๒) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังในท่ามกลางประชุมชน.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด. ภาคสาม ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคาราวะ.

@   สมบัติของผู้ดี   ภาค ๓

ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคารวะ

กายจริยา คือ
(๒) ย่อมนั่งด้วยกิริยาสุภาพเฉพาะหน้าผู้ใหญ่
(๓) ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่.
(๔) ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่.
(๕) ย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่หรือผู้หญิง.
(๖) ย่อมไม่ทัดหรือ คาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น.
(๗) ย่อมเปิดหมวก เมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น
(๘) ย่อมเปิดหมวก ในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด.
(๙) ผู้น้อย ย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน.
(๑๐) ผู้ชาย ย่อมเคารพผู้หญิงก่อน.
(๑๑) ผู้ลา ย่อมเป็นผู้เคารพก่อน.
(๑๒) ผู้เห็นก่อน โดยมากย่อมเคารพก่อน.
(๑๓) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่พูดจา ล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวร้าย
ถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง.
(๓) ย่อมไม่กล่าว วาจาติเตียนสิ่งเคารพหรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา.
(๔) เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด
ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาก่อน.
(๕) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลใด
ควรออกวาจาขอโทษเสมอ.
(๖) เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร
ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมเคารพยำเกรง บิดามารดาและอาจารย์.
(๒) ย่อมนับถือนอบน้อม ต่อผู้ใหญ่.
(๓) ย่อมมีความอ่อนหวาน แก่ผู้น้อย.

@   สมบัติของผู้ดี ภาค ๔

ผู้ดี ย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ
ไม่ไปใช้กิริยายืน  เมื่อเขานั่งกับพื้นและ
ไม่ไปนั่งกับพื้น  เมื่อเวลาเขายืนเดินกัน.
(๒) ย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควร
ในบ้านของผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์.
(๔) ย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเหี่ยวแห้ง
ในที่ประชุมรื่นเริง.
(๕) เมื่อไปสู่ที่ประชุมการรื่นเริง
ย่อมช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง.
(๖) เมื่อเป็นเพื่อนเที่ยว
ย่อมต้องกลมเกลียวและร่วมลำบากร่วมสนุก.
(๗) เมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน
ย่อมต้องต้อนรับและเชื้อเชิญแขกไม่เพิกเฉย.
(๘) ย่อมไม่ทำกิริยา  บึกบึนต่อแขก.
(๙) ย่อมไม่ให้แขก  ต้องคอยนานเมื่อเขามาหา.
(๑๐) ย่อมไม่จ้องดูนาฬิกา
ในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่.
(๑๑) ย่อมไม่ใช้กิริยา
อันบุ้ยใบ้ หรือกระซิบกระซาบ  กับผู้ใด
ในเวลาเฉพาะ  เมื่อตนอยู่ต่อหน้าผู้หนึ่ง.
(๑๒) ย่อมไม่ใช้ กิริยาอันโกรธเคือง
หรือดุดัน ผู้คนบ่าวไพร่  ต่อหน้าแขก.
(๑๓) ย่อมไม่จ้องดูบุคคลโดยเพ่งพิศเหลือเกิน.
(๑๔) ย่อมต้อง รับส่งแขก เมื่อไปมา
ในระยะอันสมควร.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของ
ที่เขา ตั้ง แต่ง ไว้ในบ้านที่ตนไปสู่.
(๒) ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญ รูปกายบุคคล
แก่ตัวเขาเอง.
(๓) ย่อมไม่พูดให้เพื่อน.. เก้อกระดาก.
(๔) ย่อมไม่พูดเปรียบเปรย เกาะแกะสตรี
กลางชุมชน.
(๕) ย่อมไม่ค่อนแคะติ.. รูปกายบุคคล.
(๖) ย่อมไม่ทัก.. ถึงการร้าย โดยพลุ่งโพล่ง
ให้เขาตกใจ.
(๗) ย่อมไม่ทัก.. ถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดาก
โดยเปิดเผย.
(๘) ย่อมไม่เอาสิ่งที่.. น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง.
(๙) ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้น
มากล่าวให้.. อับอายหรือเจ็บใจ.
(๑๐) ย่อมไม่กล่าวถึง  การอัปมงคลในเวลามงคล.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมรู้จักเกรงใจคน.

@ สมบัติของผู้ดี ภาค ๕

ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ.
(๒) จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร
ไม่เป็นผู้แอบหลังคน  หรือหลีกเข้ามุม.
(๓) ย่อมไม่เป็นผู้
สะทกสะท้าน  งกเงิ่นๆ  หยุด ๆ   ยั้ง ๆ .

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ
ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมมี   ความรู้จักงาม รู้จักดี.
(๒) ย่อมมี   อัชฌาสัยอันกว้างขวาง
เข้าไหนเข้าได้.
(๓) ย่อมมี   อัชฌาสัยเป็นนักเลง
ใครจะพูดหรือเล่นอันใด ก็เข้าใจและต่อติด.
(๔) ย่อมมี  ความเข้าใจ ว่องไว ไหวพริบ
รู้เท่าถึงการณ์.
(๕) ย่อมมี  ใจอันองอาจ กล้าหาญ.

@  สมบัติของผู้ดี ภาค ๖

ผู้ดี ย่อมปฏิบัติการงานดี

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมทำการ  อยู่ในระเบียบแบบแผน.
(๒) ย่อมไม่ถ่วงเวลา  ให้คนอื่นคอย.
(๓) ย่อมไม่ละเลย  ที่จะตอบจดหมาย.
(๔) ย่อมไม่ทำการ  แต่ต่อหน้า.

วจีจริยา คือ
(๑) พูดสิ่งใดย่อม  ให้เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้.
(๒) ย่อมไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดย
มิได้เห็นว่าการจะเป็นได้หรือไม่.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมเป็น  ผู้รักษาความสัตย์ในเวลา.
(๒) ย่อมไม่เป็น  ผู้เกียจคร้าน.
(๓) ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้.
(๔) ย่อมไม่  เพลิดเพลิน  จนละเลยให้การเสีย.
(๕) ย่อมเป็น  ผู้รักษาความเป็นระเบียบ.
(๖) ย่อมเป็น  ผู้อยู่ในบังคับบัญชาเมื่ออยู่ในหน้าที่.
(๗) ย่อมมี  มานะในการงาน
ไม่ย่อท้อ ต่อความยากลำบาก.
(๘) ย่อมเป็น  ผู้ทำอะไรทำจริง.
(๙) ย่อมไม่เป็น  ผู้ดึงดัน ในที่ผิด.
(๑๐) ย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ.

@ สมบัติของผู้ดี ภาค ๗ ผู้ดี

ย่อมเป็นผู้ใจดี

กายจริยา คือ
(๑) เมื่อเห็น  ใครทำผิดพลาด อันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น.
(๒) เมื่อเห็น สิ่งของของใครตก หรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว.
(๓) เมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ เยอะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด.
(๒) ย่อมไม่ใช้ วาจาอันข่มขี่.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยม เกรี้ยวกราด
แก่ผู้น้อย.
(๒) ย่อม เอาใจ โอบอ้อมอารีแก่คนอื่น.
(๓) ย่อม เอาใจ ช่วยคนเคราะห์ร้าย.
(๔) ย่อมไม่เป็น  ผู้ซ้ำเติมคนเสียที.
(๕) ย่อมไม่เป็น  ผู้อาฆาตจองเวร.

@  สมบัติของผู้ดี ภาค ๘

ผู้ดี ย่อมไม่เห็นแต่แก่ตัวถ่ายเดียว

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่พักหาความสบาย ก่อนผู้ใหญ่.
(๒) ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิง ที่นั่งหรือที่ดู อันใด.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง
ในเมื่อเขาสนทนากัน.
(๔) เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่ง ย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง.
(๕) ในการเลี้ยงดูย่อม  แผ่เผื่อ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน.
(๖) ในที่บริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของ แก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไป ไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน.
(๗) ย่อมไม่ รวบสามตะกลามสี่ กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลาง จนเกินส่วนที่ตนจะได้.
(๘) ย่อมไม่แสดง ความไม่เพียงพอใจ
ในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้.
(๙) ย่อมไม่ นิ่งนอนใจ ให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดู
หรือใช้ค่าเดินทาง เป็นต้น.
(๑๐) ย่อมไม่ลืม ที่จะส่งของ ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม.
(๑๑) การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดู ซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่ง เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน.
(๒) ย่อมไม่ สนทนา แต่เรื่องตนถ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้.
(๓) ย่อมไม่ นำธุระตน เข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน.
(๔) ย่อมไม่ กล่าววาจาติเตียน ของที่เขาหยิบยกให้แก่ตน.
(๕) ย่อมไม่ ไต่ถามราคา ของที่เขาได้หยิบยกให้แก่ตน.
(๖) ย่อมไม่ แสดงราคา ของที่หยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ.
(๗) ย่อม ไม่ใช้วาจา อันโอ้อวดตน
และหลบหลู่ผู้อื่น.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่มีใจมักได้
(๒) ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน.
(๓) ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของทองเงินซึ่งกันและกัน.
(๔) ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น.
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอน ทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น.
(๖) ย่อมรู้คุณ ผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน.
(๗) ย่อมไม่มีใจริษยา

@ สมบัติของผู้ดี ภาค ๙

ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง

กายจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วง เข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเชิญ.
(๒) ย่อมไม่ แลลอดสอดส่าย โดยเพ่งเล็ง เข้าไปตามห้องเรือนแขก.
(๓) ย่อมไม่ เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ ของผู้อื่นดู
จนเหลือเกิน ราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด.
(๔) ย่อมไม่ เที่ยวขอหรือหยิบฉวย ดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีประสงค์จะให้ดู.
(๕) ย่อมไม่ เที่ยวขอหรือหยิบฉวย ดูสมุดพกหรือสมุดจดรายงานบัญชีของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่.
(๖) ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๗) ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น.
(๘) ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่น ซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ.
(๙) ย่อมไม่ลอบแอบ ฟังคนพูด.
(๑๐) ย่อมไม่ลอบแอบ ดูการลับ.
(๑๑) ถ้าเห็นเข้าจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว.
(๑๒) ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน.

วจีจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่ซอกแซกไต่ ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน.
(๒) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร.
(๓) ย่อมไม่เที่ยวถามถึง ผลประโยชน์ที่เขาหาได้เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง.
(๔) ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใด มาแสดงในที่แจ้ง.
(๕) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่ง มาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น.
(๖) ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง.
(๗) ย่อมไม่พูดสับปลับกลับกลอกตลบตะแลง.
(๘) ย่อมไม่ใช้ คำสบถ ติดปาก.
(๙) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำ มุสา.

มโนจริยา คือ
(๑) ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง.
(๒) ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจแก่ผู้อื่น.
(๓) ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม.
(๔) ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง.

พระแท้ ; ไม่มีสังกัด
พระแท้ ; ไม่มีนิกาย
พระแท้ ; ไม่มีสมณศักดิ์
พระแท้ ; ไม่มีเชื้อชาติ
พระแท้ ; ไม่มีแบ่งแยก

เพราะพระแท้
บวชเพื่อขัดเกลา
บวชเพื่อละ
บวชเพื่อหลุดพ้น

ขอขอบคุณ ผู้ใจดี
สำหรับเรื่องราวดีๆ ที่มีมาให้นี้

พระอาจารย์ตุ๋ย สอนธรรม

การปรารถนา   นิพพาน   ที่ถูกนั้น
มิได้เป็นไป เพื่อ  หนีความทุกข์
มิได้เป็นไป เพื่อ  หาความสุข
แต่เป็นไป   เพื่อ  เข้าใจ..ความจริง
ของโลก ที่ยัง อยากข้องอยู่
เมื่อถึงปลายสุดของสุข จะเจอ ทุกข์
เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ เจอสุขจริง
เขาร่ำรวย เพราะ เขาเรียนรู้พอ
เขาสุข เพราะ  เขารู้จักทุกข์แล้ว
เขาจึงมิได้สุข  เพราะ  ไปหาสุข 
แต่เขาสุข       เพราะ   ทุกข์มันไม่มี
ไม่มีใครเข้าถึง สุข  ได้ด้วยการ เสวยสุข
นั่นคือการ กินเหยื่อข้างนอก ที่มีเบ็ดซ่อนอยู่ข้างใน
แต่หากได้รู้แล้ว ว่าข้างในเหยื่อนั้นมีเบ็ดซ่อน
ปลาบางตัวกลับกินเหยื่อได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ติดเบ็ดของพรานเลย
เป็นปกติของปลาที่รู้เท่าทันภัย
มันย่อมไม่ประมาท .. มันฉลาด มีวิธีกิน
- เขาย่อมอยู่กับโทษของโลกได้ โดยไม่มีภัย
หากเขาเข้าใจ ความจริงว่าใน แก่น จริงนี้มี เบ็ด สิงอยู่ข้างใน
จะกินเบ็ด หรือ กินเหยื่อ
เริ่มจากความเชื่อ ต้องถูกตรง
@@@     @@@
หาก อยากปล่อยวาง  ต้องทำยังไง ?
…  การปล่อยวาง .. มิได้
ทำได้ด้วย การปล่อย หรือการวาง จากอาการแห่งการตั้งใจ จะปล่อย หรือจะวาง
เพราะไม่ได้  เป็นสิ่ง ที่เป็นไปได้
ด้วยเรามิได้  เป็นสิ่ง ที่จะไปกำหนดอะไรเอาเองได้ จาก ความอยากให้มันเป็นไป
ตามความอยากของเรา (อนัตตา)
แม้อารมณ์ใจของตัวเราเอง ยังเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้
แม้ว่ามันจะอยู่ชิดกับเราที่สุดแล้วก็ตาม
แล้วเราจะไป ควบคุมอะไรๆ อีกได้จริงๆหรือ ?
… แต่การปล่อยวาง .. มีได้
ด้วยการเข้าใจความจริง ว่า
ความสุข ที่  เ  ค ย   ได้
และ ก็ยังอยากได้ อี ก
มันจะไม่ได้อยู่กับใครได้อย่าง
... คงทนถาวร โดย
... ไม่เสื่อมไม่จาง ไม่ดับไป เลย
เมื่อธรรมชาติของมันต้องดับ
แล้วทำไมไปบังคับให้มันคงอยู่ เราไม่รู้หรืออย่างไร ?
การปล่อยวาง .. มีได้ ..
ด้วยการเข้าใจความจริง
ว่าความทุกข์ ว่าความไม่สบายใจ
แม้ไม่ต้องผลักใส มันก็ต้องดับไป อีกเช่นกัน
อย่าไปผลัก ไปดัน ให้มันทุกข์ใจ
อย่างมากมันก็ทำให้ .. เจ็บปวด ..ได้
แต่มันไม่อาจทำให้ .. เจ็บใจ
แค่ยอมให้มันผ่านทาง อย่าไปขวาง ให้เปลืองตัว .

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระตุ๋ย สอนธรรมะ

ถ้าเรา .. ทำตาม .. คนไม่ปกติที่มีจำนวนมาก
เราจะกลายเป็น
คนปกติ ของ คนบ้า
และเป็น
คนบ้า ของ คนปกติ
แต่ถ้าเรา .. สวนกระแส .. เราก็จะเป็น
คนบ้าของคนบ้า
แต่จะเป็น
คนปกติ ของ คนปกติ
เราจะเลือกเป็นใครดี ?
ใครคนปกติดี
มีอยู่ไหม ?
ช่วย บอกให้  ..  ฟังที
แต่คงทำไม่รู้ ไม่ชี้
ยังคงจะเดินทาง
ที่ได้วางไว้ในใจ .



วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระตุ๋ย ชาคโร สอนการดับทุกข์จากความเศร้า

หาก ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา
เมื่อไรใจก็เป็นทุกข์
พุทธศาสนาสอนอะไรเรา
เพื่อได้ประโยชน์ที่แท้จริง
ความตายของเขา ยังไม่เศร้าเท่าเรา
ต้องตายเอง
ตายวันนี้ ตอนนี้แล้วนะ
คนที่ยังประมาทอยู่
ยังปล่อยให้ใจเป็นอกุศล
เขาไม่พ้นจากบ่วงมาร
เมื่อส่งเสริมให้ทุกข์เศร้านาน
คือยื่นอาหารให้ มารมีอำนาจ
หากฉลาด ก็
กัน คือ ไม่ให้เข้า
แก้ คือ เอาออกไปไม่รีรอ
ก่อ คือ สร้างใหม่ให้มี
เก็บคือ พัฒนาให้ดีขึ้นไป
ความเสียใจ มันช่วยอะไรให้ดีขึ้นไหม ?
หรือเพียงแต่ให้อะไรๆ
มันยิ่งแย่ไปกว่าเดิม
ความคิด  เกิด
เมื่อความไม่รู้จักคิด  ดับ
ผู้ระงับ ย่อมดับ ทั้งคิดและไม่คิด