วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

กรรมฝ่ายบุญ ๘ อย่าง

Sroikaew Phromsungnoen19 เมษายน 17:01
กรรมฝ่ายบุญ ๘ อย่าง
ต่อไปจะกล่าวถึงฝ่ายบุญหรือกุศลกรรม ฝ่ายบุญก็มี ๘ เหมือนกันคือ

(๑) บุญหรือกรรมดีบางอย่างถูกคติวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
(๒) กรรมดีบางอย่างถูกอุปธิวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
(๓) กรรมดีบางอย่างถูกกาลวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
(๔) กรรมดีบางอย่างถูกปโยควิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
(๕) กรรมดีบางอย่างอาศัยคติสมบัติ จึงให้ผล
(๖) กรรมดีบางอย่างอาศัยอุปธิสมบัติ จึงให้ผล
(๗) กรรมดีบางอย่างอาศัยกาลสมบัติ จึงให้ผล
(๘) กรรมดีบางอย่างอาศัยปโยคสมบัติ จึงให้ผล

ในกรรมดี ๘ อย่างนี้ จะอธิบายความหมายของกรรมดีบางอย่างว่า ทำไมจึงไม่ให้ผล บางคนทำกรรมดี อย่างพวกเรานี้บางทีทำกรรมดีให้ผลทันทีเลย แต่บางทีกรรมนั้นยังไม่ให้ผลเพราะอะไร ? ก็เพราะอาศัยเหตุปัจจัยคือสมบัติและวิบัตินั่นเอง



ข้อที่ ๑ กรรมดีบางอย่างถูกคติวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
ในคัมภีร์ท่านยกตัวอย่างว่า พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ทรงทำกรรมดีไว้มากเหมือนกัน นอกจากที่ทรงทำกรรมชั่วไว้ ถ้าพระองค์ไม่ไปฆ่าพ่อ คือปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา พระองค์คงไปเกิดในสวรรค์แน่ แต่การฆ่าพ่อนี้บาปกรรมหนัก เป็นเหตุให้พระองค์ต้องไปตกนรก เมื่อตกนรกแล้ว กรรมดีที่พระองค์เคยทำไว้มาก เช่น ทรงอุปถัมภ์สังคยานาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ทรงถึงพระรัตนตรัย ทรงฟังธรรม แต่บุญเหล่านั้นไม่อาจจะตามให้ผลได้เมื่อพระองค์ไปตกนรก เพราะอะไร ? เพราะไปเกิดอยู่ในนรกเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า กรรมดีบางอย่างถูกคติวิบัติห้ามเสียจึงไม่ให้ผล

ข้อที่ ๒ กรรมดีบางอย่างถูกอุปธิวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
เช่น บางคนเกิดเป็นลูกกษัตริย์ แต่ว่าตาบอดหรือหรือบ้าไบ้ หรือหูหนวก ตามปกติก็ควรจะได้เป็นรัชทายาท แต่เนื่องจากว่ารูปร่างไม่สมประกอบเสียแล้ว เลยเป็นรัชทายาทไม่ได้ เพราะอะไร ? เพราะอุปธิวิบัติห้ามเสียแล้ว

ข้อที่ ๓ กรรมดีบางอย่างถูกกาลวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
คือ บางคนทำกรรมดีไว้มาก แต่เขากลับไปเกิดในยุคที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ประกอบด้วยธรรม ผู้ปกครองทารุณโหดร้าย ไปเกิดในยุคที่ข้าวยากหมากแพง กรรมดีที่เขาเคยกระทำไห้ผลเขาไม่ได้ในช่วงนั้น เพราะเขาไปเกิดในกาลวิบัติเสียแล้ว กรรมดีมีอยู่แต่ไม่ให้ผลในตอนนั้น

ข้อที่ ๔ กรรมดีบางอย่างถูกปโยควิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล
คิอ บางคนทำดีเอาไว้ในชาติปางก่อน แต่ในชาติปัจจุบันไม่ทำกรรมดีกลับมาทำชั่ว เป็นคนขี้เกียจไม่เอาการงาน แม้เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จริง แต่เขาไม่ทำดีในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ ถูกกรรมชั่วคือการกระทำในปัจจุบันห้ามผลที่มาในอดีตเสีย จึงไม่มีผล

ข้อที่ ๕ กรรมดีบางอย่างอาศัยคติสมบัติ จึงให้ผล
เช่นบางคนทำกรรมดีไว้ ทำให้เขาไปเกิดในสวรรค์ก็สุขและรุ่งเรืองทันที หรือเกิดมาเป็นมนุษย์ก็สุขและรุ่งเรืองทันที เพราะกรรมดีของเขาหนุนอยู่แล้ว

ข้อที่ ๖ กรรมดีบางอย่างอาศัยอุปธิสมบัติ หรือรูปสมบัติจึงให้ผล
บางคนเกิดเป็นเทวดา มีรูปสวย รูปหล่อยิ่งมีความสุขมาก หรือเกิดเป็นมนุษย์ก็มีร่างกายสมบูรณ์ หัวก็ดี สมองแจ่มใส ผิวพรรณผ่องใส เขาได้อาศัยอุปธิสมบัติ ยิ่งหนุนเขามากขึ้น บางคนยิ่งสุขล้นขึ้นไปอีก

ข้อที่ ๗ กรรมดีบางอย่างอาศัยกาลสมบัติ จึงให้ผล
คือเขาเกิดในยุคของพระพุทธเจ้า หรือยุคของคนมีศีลธรรม ผู้ปกครองดี เขาก็สุข รุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพราะกรรมดีเขามีอยู่แล้ว

ข้อที่ ๘ กรรมดีบางอย่างอาศัยปโยคสมบัติ จึงให้ผล คืออาศัยความเพียรจึงให้ผล
เมื่อเขาเกิดมาเป็นมนุษย์หรือเกิดมาเป็นเทวดาและเขาทำดีตลอด เขาไม่ทำชั่ว กรรมดีก็หนุนเขาเต็มที่ เพราะเขาอาศัยปโยคสมบัติ
กรรมทั้ง ๑๖ ประเภทนี้ เป็นกรรมที่กล่าวไว้ค่อนข้างละเอียดในคัมภีร์อรรถกถาพระอภิธรรม และในอรรถกถาพระสูตร ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก พวกเราจึงไม่ค่อยได้ยินกันนัก แต่นี้แหละทำให้เราได้เห็นชัดว่า กรรมที่เราทำไว้บางอย่างทำไมจึงไม่ให้ผล การที่มันยังไม่ให้ผลนั้นเพราะไปอาศัยวิบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งห้ามเสีย หรือคนทำชั่วบางคนทำไมจึงไม่ได้รับผล ก็เพราะไปอาศัยสมบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามกรรมชั่วของเขาเสียจึงไม่ให้ผล แล้วทำไมบางคนทำดีจึงได้ไว ก็เพราะเขาอาศัยสมบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหนุนเขา และทำไมบางคนทำชั่ว พอทำทันทีก็ได้ผลทันที ก็เพราะอาศัยวิบัติ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหนุนเขา เขาจึงได้ผลไว แต่กรรมที่เราทำไว้จะต้องให้ผล เพียงแต่เร็วหรือช้าเท่านั้นเอง
นี้คือกฏแห่งกรรมอีกอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งกรรม เรียกว่า กรรมวาที เป็นผู้กล่าวเรื่องกฏแห่งกรรม คือเชื่อกรรม อย่างเรามาทำความดีในขณะนี้ ถ้าเทียบในกฏแห่งกรรม ๑๖ ฮย่างนั้นเทียบกับข้อไหน ? เทียบกับข้อปโยคสมบัติ คือเรามาทำกรรมดี เมื่อเราทำกรรมดี ถ้าบุญของเราที่ทำไว้แล้วมีอยู่มันก็หนุนเรายิ่งๆ ขึ้น ถ้าว่าบาปที่เราเคยทำมา บาปนั้นก็ลดน้อยลง เพราะกรรมดีนี้มันผลักบาปออก มันผลักบาปไม่ให้เข้ามา มันกันบาปเอาไว้ ปโยคะฝ่ายดีนี้มันหนุนบุญและผลักบาปออก
เพราะฉะนั้น การเจริญภาวนาอย่างที่เราทั้งหลายปฏิบัติอยู่นี้ จะมีผลมากกว่าการให้ทาน กว่ารักษาศีล เป็นกรรมที่เหนือกรรมโดยทั่วไปในฝ่ายดี และสามารถจะห้ามกรรมฝ่ายชั่วได้ดีด้วย
นี้คือกฏแห่งกรรม ๑๖ อย่าง ในพระพุทธศาสนา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น