วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

ประเภทของกรรม

Sroikaew Phromsungnoen19 เมษายน 16:20
ประเภทของกรรมตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 4 หมวดๆ ละ 4 ประเภท รวม 16 ประเภท มีดังต่อไปนี้

1. หมวดกิจจะจตุกกะ คือ กรรมว่าโดยหน้าที่ มี 4 ประเภท ได้แก่

1.1 ชนกกรรม คือ กรรมมีหน้าที่ยังวิบากให้เกิด สัตว์โลกทั้งปวงย่อมเกิดด้วยอำนาจของชนกกรรม แต่ละชาติที่เกิดภายใต้กฏแห่งชนกกรรมเป็นพนักงานตกแต่งให้เกิดทั้งหมด

1.2 อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมมีหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูกรรมอื่นเป็นกรรมที่เข้าไปอุปถัมภ์กรรมของสัตว์ ที่เกิดแล้ว เมื่ออำนาจของชนกกรรมนำปฏิสนธิแล้วอุปถัมภกกรรมก็เข้าทำหน้าที่อุปถัมภ์ให้ ได้รับทุกข์หรือสุขหรืออกุศลกรรมหรือกุศลกรรมให้มีพลังมากยิ่งขึ้น

1.3 อุปปีฬกกรรม คือ กรรมมีหน้าที่เบียดเบียนกรรมอื่นเข้าไปทำร้ายหรือบีบคั้นกรรมอื่นที่มีสภาพตรงกันข้าม ซึ่งมีทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล เป็นผลให้กรรมฝ่ายตรงกันข้ามอ่อนกำลังลงเสื่อมลง

1.4 อุปฆาตกกรรม หรืออุปัทเฉทกกรรม คือ มีหน้าที่เข้าไปตัดรอนกรรมอื่นที่มีสภาพตรงกันข้ามได้อย่างเด็ดขาดและรวด เร็วเป็นปัจจุบันทันด่วนยิ่งกว่าอุปปีฬกกรรม ซึ่งมีทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล เป็นผลให้เจ้าของกรรมได้รับผลทันทีทันใด



2. หมวดปากะทานปริยายะจตุกกะ คือ กรรมว่าโดยลำดับการให้ผล มี 4 ประเภท ได้แก่

2.1 ครุกรรม คือ กรรมหนักซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับแรกก่อนกรรมทั้งหลายไม่มีกรรมใดจะมีพลัง มาขวางกั้นผลแห่งครุกรรมนี้ได้เลยซึ่งมีทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล

2.2 อาสันนกรรม คือ กรรมที่ให้ผลเวลาใกล้ตาย ซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นอันดับสองรองจากครุกรรม จะชักนำบุคคลเจ้าของกรรมให้ได้รับผลโดยไม่เนิ่นช้า

2.3 อาจิณณกรรม หรือพหุลกรรม คือ กรรมที่ทำบ่อยๆเนืองๆ ให้ผลเป็นลำดับสาม ถ้าไม่มีครุกรรมและอาสันนกรรม กรรมนี้จะให้ผลเพราะเป็นกรรมที่กระทำบ่อยๆ สั่งสมไว้ในสันดานมากๆ ย่อมจักได้โอกาสให้ผลในชาติต่อไปทันที

2.4 กตัตตากรรม คือ กรรมที่สักแต่ว่ากระทำ มีอำนาจให้ผลเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมที่ผู้กระทำไม่ตั้งใจ ไม่มีเจตนา เป็นสักแต่ว่ากระทำลงไป เป็นกรรมที่มีพลังน้อยที่สุด แต่ก็ย่อมมีโอกาสให้ผล ในบรรดาสัตว์ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารนี้ ที่จะได้ชื่อว่าไม่มีกตัตตากรรมเป็นอันไม่มี



3. หมวดปากะกาลจตุกกะ คือ กรรมว่าโดยเวลาที่ให้ผล มี 4 ประเภท ได้แก่

3.1 ทิฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบันเป็นกรรมที่ให้ผลรวดเร็วปัจจุบันทันด่วน ไม่ต้องไปรอรับผลชาติหน้าหรือชาติไหนๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลและอกุศล

3.2 อุปปัชชะเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า เป็นกรรมที่ให้ผลช้าเป็นที่สองรองจากทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

3.3 อปราปริยะเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไปเป็นกรรมที่ให้ผลช้ารองจาก 2 ข้อแรก ย่อมให้ผลในชาติที่ 3 เป็นต้นไป ซึ่งมีทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล

3.4 อโหสิกรรม คือ กรรมที่สำเร็จแล้วไม่มีโอกาสให้ผล เพราะทิฏฐธรรมเวทนียกรรมอื่นมีพลังสูงกว่าชิงส่งผลให้เสียแล้วจึงกลายเป็น กรรมที่หมดประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล



4. หมวดปากะฐานจตุกกะ คือ กรรมว่าโดยฐานะให้ผล มี 4 ประเภท ได้แก่

4.1 อกุศลกรรม คือ กรรมที่ให้ผลนำไปเกิดในอบายภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

4.2 กามาวจรกุศลกรรม คือ กรรมที่ให้ผลนำไปเกิดในสุคติภูมิ๗ ได้แก่ มนุษย์และสวรรค์ 6 ชั้น

4.3 รูปาวจรกุศลกรรม คือ กรรมที่ให้ผลนำไปเกิดในรูปพรหม 4 ชั้น

4.4 อรูปาวจรกุศลกรรม คือ กรรมที่ให้ผลนำไปเกิดในอรูปพรหม 4 ชั้น ขอจงพิจารณาดูเถิดว่า เราเกิดมาในชาตินี้ด้วยกรรมอะไรอดีตกาลที่ผ่านมาและในปัจจุบันเราประสบการณ์ ที่ดีและร้ายด้วยอำนาจแห่งกรรมอะไร หากจะพิจารณาด้วยปัญญาก็จะทราบชัดถึงกรรมของตนเองได้เป็นอย่างดี เพราะเหตุว่าสัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ย่อมจักหนีกรรมไม่พ้นไม่กรรมใดก็กรรมหนึ่งแน่นอนตราบเท่าที่ยังว่ายวนอยู่ใน สังสารวัฏ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น