พระตุ๋ย ชาคโร
ต่างเพียงน้อยที่ราก ..
จึงต่างอย่างมากที่ลำต้น
พระอาจารย์ชยสาโร - เส้นทางธรรม
ตอนอาตมาเป็นเด็กสุขภาพไม่ดีเป็นโรคหืด ทุกปีมีหลายวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ทำให้เกิดนิสัยชอบอยู่คนเดียว ชอบอ่านหนังสือ ชอบคิดค้นคว้าพิจารณาเรื่องชีวิตของตัวเอง
พออายุ 15 – 16 ปี ร่างกายสังขารก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ และความคิดก็มีการวิวัฒนาการเช่นเดียวกัน เกิดความสงสัยว่า
เราเกิดมาทำไม?
สิ่งที่สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้คืออะไร?
ในโลกนี้มีชีวิตที่ประเสริฐมีไหม?
และชีวิตที่ประเสริฐคืออะไร?
สิ่งที่สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้คืออะไร?
ในโลกนี้มีชีวิตที่ประเสริฐมีไหม?
และชีวิตที่ประเสริฐคืออะไร?
เมื่อเกิดความสงสัยอย่างนี้ขึ้นมาแล้วค่อนข้างฟุ้งซ่าน บางทีนอนไม่หลับรู้สึกว่าเป็นปัญหาสำคัญมากที่จำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้ แต่สิ่งที่แปลกก็คือว่าเพื่อน ๆ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเลย พูดกับเพื่อน ๆ เหมือนพูดกันคนละภาษา อยู่กันคนละโลก ได้คุยกับครูที่โรงเรียนก็เหมือนกัน มีความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ว้าเหว่ เหมือนกับว่าเราเป็นคนเดียวในโลกที่มีความคิดอย่างนี้
แต่โชคดีที่บ้านของอาตมาอยู่ห่างจากเคมบริดจ์ไม่กี่กิโลเมตร วันเสาร์อาตมามักจะขึ้นรถเมล์ไปเที่ยวเมืองเคมบริดจ์ แต่ไม่ได้ไปเที่ยวดูอะไรหรอก ไปอยู่ที่ร้านหนังสือ เมืองเคมบริดจ์มีร้านหนังสือเยอะแยะ และที่นั่นส่วนมากผู้ที่ทำงานในร้านหนังสือเป็นนิสิตเก่า เขาเห็นใจนักศึกษายากจน เราจะไปอ่านหนังสือทั้งวันก็ไม่มีใครรบกวน
บางทีอาตมาจะไปถึงแต่เช้าหยิบหนังสือมาอ่านถึงเที่ยง หิวข้าว ก็เก็บไว้ที่เดิม ออกไปกินข้าวเสร็จแล้วกลับมาอ่านต่อ อ่านหนังสือเพลิน ๆ ไม่ต้องเสียสตางค์เลยก็ทำอย่างนี้หลายครั้ง ชอบอ่าน ชอบศึกษาเรื่องจิตใจ เรื่องปรัชญา เรื่องจิตศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สนใจในเรื่องเหล่านี้
จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบหนังสือคำสอนของพระพุทธเจ้า อ่านหนังสือหน้าแรกก็สะดุ้ง เกิดความศรัทธาเลื่อมใสว่านี่คือความจริง ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นปรัชญาของเอเชียหรือเป็นของแปลก ๆ แต่มีความรู้สึกเหมือนกับว่า พระพุทธเจ้าสามารถเอาความคิดที่ลึกซึ้งของเรา ออกมาพูดเป็นภาษาคน เพราะฉะนั้นการได้พบพระพุทธศาสนาเท่ากับได้พบตัวเอง ทำให้เข้าใจการสอนของครูบาอาจารย์ที่ว่า พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องตำรา ไม่ใช่เรื่องของวัดวา ไม่ใช่เรื่องของนักบวช เป็นเรื่องของเราทุกคน เรื่องของหัวใจมนุษย์
สิ่งที่ประทับใจมากในหนังสือเล่มนั้นคือ คำสอนที่เกี่ยวกับจิต หมายถึงจิตที่บริสุทธิ์ สะอาดโดยธรรมชาติ พระพุทธศาสนาสอนว่า
“จิตใจของเราโดยธรรมชาติ จิตเดิมแท้เป็นจิตที่ใสสะอาด จิตนี้หลงอารมณ์ เกิดความเข้าใจผิด เกิดความคิดผิดเกี่ยวกับตัวเอง ชีวิตของตนเอง และความคิดผิดนี้กลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกต่าง ๆ ว่าฉัน ว่าของฉัน มีการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นฉันของฉัน และสิ่งที่ไม่ใช่ฉันของฉัน เกิดความขัดแย้ง เกิดความบาดหมางระหว่างความนึกคิดของตัวเอง และความจริงของธรรมชาติ อันนี้เรียกว่าทุกข์ จิตเป็นทุกข์”
ทีนี้จะว่าอาตมาพิสูจน์ความจริงของธรรมะอันนั้นก็ไม่ถูก ยังไม่ได้พิสูจน์ แต่มีความเชื่อมั่นว่านี่คือ ความจริง
คนไทยไม่ใช่น้อยที่คุ้นเคยกับคำสอนของพระพุทธศาสนาจนประมาท ฟังมามากแล้ว ฟังแล้วรู้สึกเฉย ๆ หรือบางทีสัปหงก แต่ว่าชาวตะวันตกมีความรู้สึกอีกอย่าง เพราะหลักการของศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเราหรือประจำทวีปก็ว่าได้ สอนว่า
“จิตเดิมแท้ของมนุษย์เป็นของสกปรกมี Original Sin หรือบาปเดิม”
ซึ่งทำให้คนมีความรู้สึกว่าแท้จริงแล้ว จิตใจของเรานี้เศร้าหมองโดยธรรมชาติแม้ว่าเราอาจจะทำความดีบางอย่าง ความจริงแล้วมันเป็นแค่การบังบังกิเลสมากกว่า คือความดีและความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของแท้จริง สิ่งที่แท้จริงของเราคือกิเลส ทำให้ชาวตะวันตกมักรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีอยู่เสมอ
แต่คำสอนของพระพุทธเจ้ากลับตรงกันข้ามเลยพระพุทธองค์ตรัสว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์เป็นของสะอาด
ถ้าพูดในแง่ของการปฏิบัติ ทฤษฎีนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าถือว่าจิตเดิมแท้ของเราเป็นของสกปรก เราจะไม่มีกำลังใจที่จะขัดเกลาตัวเอง เพราะว่ายิ่งขัดเกลายิ่งเจอแต่ความสกปรก การขัดเกลาสิ่งสกปรกโดยธรรมชาติให้เป็นของสะอาดเป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าเนื้อแท้ของจิตใจเราสะอาดโดยธรรมชาติ และเศร้าหมองเพราะหลงอารมณ์ว่าเป็นอัตตาตัวตน การขัดเกลามีความหมายและความสำคัญด้วย มีความจำเป็นด้วย ผู้ใดซาบซึ้งในข้อนี้มาก จะมีความรู้สึกว่าการขัดเกลากิเลส การแสวงหาความบริสุทธิ์เดิมแท้ของจิตนั้นเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิตมนุษย์
เพราะฉะนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาตมามีความมั่นใจว่าจะดำเนินชีวิตในรูปแบบอย่างไรก็ตาม จะประกอบอาชีพอย่างไรก็ตาม การประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตนั้นต้องเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ทางใจ
ชยสาโรภิกขุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น